วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556

ดนตรีบำบัด-คณิตศาสตร์ทางอารมณ์ Music-Mathematics of Feelings


ดนตรีบำบัด-คณิตศาสตร์ทางอารมณ์ โดย กรมสุขภาพจิต  

ความมหัศจรรย์ของดนตรีกับมนุษยชาติ

ได้มีบทพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งทางด้านดนตรี ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ว่า “ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก” เป็นข้อความที่เราชาวไทยทั้งหลายคุ้นเคยกันดี ซึ่งในบริบทของทีมสุขภาพจิต พวกเราได้มีการนำดนตรีมาใช้เพื่อการ บำบัดรักษาผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร มีหลักฐานบางส่วนที่เป็นรายงานการศึกษาผล ของดนตรีต่อการบำบัดทางจิตไว้ดังนี้

มีรายงานการศึกษาเรื่องของดนตรีกับเรื่องของสุขภาพจิต จากการศึกษาของ จินตนา สงค์ประเสริฐ และคณะ โรงพยาบาลสวนปรุง กรมสุขภาพจิต ได้ศึกษาเรื่องดนตรีบำบัดกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเผยแพร่ตีพิมพ์ใน วารสารจิตวิทยาคลินิก ปีที่ 26 ฉบับที่ 1 มกราคม - มิถุนายน 2538, 23-30 ความว่า

“ ในปัจจุบันมีการนำดนตรีมาใช้บำบัดโรคต่าง ๆ ได้อย่างมีผลดียิ่งทั้งโรคทางกายและทางจิตเวช
(กรีกเป็นชาติแรกใช้พิณดีดรักษาโรคซึมเศร้า) มีการค้นพบว่าดนตรีใช้ลดอาการเจ็บปวดจากการคลอดจากการถอนฟัน รักษาคนที่มีความเครียดกังวล แยกตัวจากสังคม หรือคนพิการซ้ำซ้อนได้ดีตลอดจนผู้ป่วยจิตเภท ผู้มีพฤติกรรมถดถอย เหงาเศร้าได้

ด้วยเหตุนี้จึงได้นำดนตรีบำบัดมาใช้กับผู้ป่วยจิตเวชทั้งโดยการเปิดเทปจังหวะเร้าใจ มีการขยับตัวเข้าจังหวะ ใช้ดนตรีแบบเคาะจังหวะ และอุปกรณ์เกิดเสียงให้ผู้ป่วยได้เขย่าหรือฟังเพลงแล้วให้บอกถึง ความรู้สึกที่ได้จากเพลง โดยการบำบัดครั้งละ 1-1.30 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 2 ครั้งพบว่าผู้ป่วยมีอาการเรื้อรัง พฤติกรรมถดถอย แยกตัว จะกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างรวดเร็ว ในชั่วโมงที่ 2 ของการบำบัดผู้เหงาเศร้าจะยิ้มแย้ม ได้ หลังจากไม่เคยยิ้มมานานแล้ว”

นี้เป็นรายงานการศึกษาของบุคลากรสุขภาพจิตในการชี้ให้เห็นคุณประโยชน์ของดนตรีกับการบำบัดผู้ป่วยจิตเวช

ขณะเดียวกันในต่างประเทศเร็วๆนี้ได้มีบทความรายงานพิเศษที่ได้อธิบายถึงความเกี่ยวข้องของดนตรีกับการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ซึ่งบทความดังกล่าวได้เผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์มติชนสัปดาห์ วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 25 ฉบับที่ 1267 ในหัวข้อ ดนตรี-คณิตศาสตร์ทางอารมณ์ (Music-Mathematics of Feelings) ของ Philip Bethge ซึ่งแปลมาจาก *บทความทางวิทยาศาสตร์จากในนิตยสารเยอรมัน “เดียร์สปีเกิ้ล” (Der Spiegel) ฉบับที่ 31/28 ก.ค. 2546 โดย ดวงดี คงธัญญะงามซึ่งให้มุมมองของดนตรีกับของอารมณ์ ไว้ดังนี้คือ

“ เสียงเพลงสามารถชวนให้เกิดอารมณ์เศร้า หรือทำให้มีความปลาบปลื้มยินดี อีกทั้งทำให้หวาดกลัวจนขนลุกตั้งชันเสียวสันหลังขึ้นมาก็ได้ สิ่งนี้เป็นขึ้นได้อย่างไร นักวิจัยได้ทำการค้นคว้าเพื่อไขปริศนาว่าจากคลื่นแรงเหวี่ยงในธรรมชาตินั้น มันเปลี่ยนสภาพกลายมาเป็นอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ได้อย่างไร แล้วปริศนาของนักคีตกวีทั้งหลายมีความเป็นมาอย่างไร เพราะดนตรีนี่หรือเปล่าที่ทำให้มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ”

ดนตรีเป็นศิลปะที่แปลกที่สุดที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาเมื่อเทียบกับการวาดภาพ การแต่งกลอน การแกะสลักรูปปั้น เสียงสอดคล้องกันเพียงเสียงเดียว หรือทำนองเดี่ยวเฉยๆ ก็ยังไม่มีความหมายในตัวแกนของดนตรีนั้น คือ คณิตศาสตร์ล้วน เป็นแรงแกว่งของลมที่ถูกคำนวณด้วยตัวเลข-ซึ่งความถี่ห่างของแรงเหวี่ยงในอากาศนั้นๆ เข้าไปทับซ้อนกัน แล้วความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งก็บังเกิดขึ้น-จากคณิตศาสตร์กลายมาเป็นความรู้สึกทางอารมณ์ ดนตรีสามารถกระตุ้นจิตใจได้อย่างลึกซึ้งให้เกิดการคิดถึงอาลัย หรือรู้สึกถึงความมีชัยชนะ

ส่วนนักค้นคว้าด้านวิวัฒนาการชาวญี่ปุ่น ฮาจิเมะ ฟูกุย วิเคราะห์ว่า “การร้องรำทำเพลงร่วมกันในกลุ่มสุภาพบุรุษทำให้ความเข้มข้นในฮอร์โมนก้าวร้าว (Testosterone) ลดลง และถ้าร้องร่วมกันทั้ง 2 เพศจะลดการหลั่งสารคอร์ติซอน (Cortisone) ซึ่งเป็นการลดความเครียด ”

เป็นความสามารถของประสาทหู เพราะข้างในหูคนเรามีเซลล์ประสาทเป็นเส้นขน 5,000 เส้น ซึ่งทำหน้าที่แปรสภาพให้เกิดพลังคลื่นเสียงเป็นไฟฟ้าในกระแสประสาท การบันทึกเสียงผ่านเยื่อแก้วหูเกิดขึ้นโดยความกดของอากาศ (โมเลกุลอากาศเล็กจี๊ดเดียว) ที่แกว่งไปมา พอเสียงเข้าไปในหูแล้วยังมีการขยายต่อโดยให้เสียงผ่านเข้ากระดูกข้อต่อในหู แล้วมีแผ่นบางๆ รองรับที่จะส่งต่อไปยังสารเหลวที่อยู่ในส่วนลึกนั่นคือ กระบวนการทำให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึกทางใจจนมนุษย์เข้าไปสัมผัสกับมิติอื่นได้


จิตแพทย์หญิงชาวคานาดา Sandra Drehub ได้ทดสอบกับเด็กตัวน้อยๆ 

โดยจัดให้คุณหนูๆ เข้าไปอยู่ในห้องทดลองที่มีของเล่นน่าเพลิดเพลินสารพัดชนิด และมีลำโพงขยายเสียงอยู่ในนั้นด้วยเพื่อทำการทดสอบค้นหารากฐานแห่งดนตรีในสมองเด็ก การทดลองของแพทย์หญิงที่ว่านี้ก็ใช้วิธีง่ายๆ คือ

เปิดเพลงเด็กในทำนองเดี่ยว เรียบๆ สำหรับให้เด็กเล็กๆ ที่เพิ่งจะเริ่มหัดพูดฟัง แล้วลองแอบใส่ทำนองอื่นที่มีเสียงเพี้ยนแทรกเข้าไปเป็นระยะๆ โดยทิ้งช่วงห่างบ้าง ถี่บ้าง แล้วแพทย์ผู้ทำการทดลองคนนี้ก็ต้องพบกับความน่าพิศวงยิ่ง เพราะมนุษย์ตัวน้อยๆ ที่กำลังเพลินกับของเล่นอยู่นั้นต้องชะงัก และหันหัวไปทางลำโพงทุกครั้งเมื่อได้ยินทำนองแปลกปลอม ซึ่งไม่เข้ากับจังหวะเพลงที่เปิดอยู่เลย

กล่าวโดยสรุป

จะเห็นได้ว่าเรื่องของดนตรีที่มีผลต่ออารมณ์ (สุขภาพจิต) ของมนุษย์เรานั้นเป็นไป
อย่างมหัศจรรย์ยิ่ง

ข้อมูลอ้างอิง : มติชนรายสัปดาห์ ประจำวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2547 ปีที่ 25 ฉบับบที่ 1267 คอลัมน์ รายงานพิเศษ : ดนตรี-คณิตศาสตร์ทางอารมณ์ (Music-Mathematics of Feelings) ของ Philip Bethge ซึ่งแปลมาจาก *บทความทางวิทยาศาสตร์จากในนิตยสารเยอรมัน “ เดียร์สปีเกิ้ล”(Der Spiegel) ฉบับที่ 31/28 ก.ค. 2546 โดย ดวงดี คงธัญญะงาม

ขอบคุณข้อมูลจาก : หน่วยสารสนเทศมะเร็ง  โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
ขอบคุณภาพประกอบจาก google

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม