วันเสาร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2556

โรคหอบหืด Asthma


โรคหอบหืดคืออะไร ?

        โรคหืดหรือโรคหอบหืดหรือ Asthma  คือโรค ที่มีการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม  ทำให้หลอดลมมี ความไวต่อการถูกกระตุ้นด้วยสารก่อภูมิแพ้หรือตัวกระตุ้น ต่างๆ  เมื่อถูกกระตุ้นหลอดลมจะมีการตีบแคบลง เนื่อง จากมีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ  มีการสร้างเสมหะ มากขึ้นร่วมกับการบวมและหลุดลอกของเยื่อบุหลอด ลมที่ตีบแคบอาจดีขึ้นได้เองหรือดีขึ้นด้วยยาขยาย หลอดลม  โรคหืดเป็นโรคที่ไม่หายขาดแต่จะมีอาการ ดีขึ้น หรือแย่ลงเป็นๆ หายๆ  บางคนก็นานๆ เป็นครั้ง เวลาเป็นหวัด  ในขณะที่บางคนก็เป็นบ่อยหรือเป็น ตลอดเวลา  มีข้อมูลว่าผู้ป่วยโรคหืดจะมีการอักเสบของ หลอดลม เกือบตลอดเวลาแม้จะไม่มีอาการ  การอักเสบ นี้ถ้ามีความรุนแรงอาจนำไปสู่การทำลายหลอดลมอย่าง ถาวรได้  อย่างไรก็ตามโรคหืดสามารถรักษาควบคุม ให้โรคสงบจนไม่มีอาการใดๆ และลดความเสียหายของ หลอดลมในระยะยาวลงได้


อาการของโรคหอบหืด

        อาการของโรคหืดในแต่ละคนมีความแตกต่างกัน  หรือแม้คนคนเดียวกันในเวลาที่แตกต่างกันก็อาจแสดงอาการ ไม่เหมือนเดิม  อาการสำคัญของโรคหอบหืด  ได้แก่

          - ไอ
          - แน่นหน้าอก
          - หายใจมีเสียงวี๊ด
          - หอบเหนื่อยหายใจลำบาก

        อาการมักจะแย่ลงเวลากลางคืนหรือเมื่อสัมผัสกับ ตัวกระตุ้นที่ผู้ป่วยแพ้

        ผู้ป่วยโรคหืดประมาณครึ่งหนึ่งจะมีอาการของโรค ภูมิแพ้ร่วมด้วย  เช่น  มีน้ำมูกขาวใสไหล คัดจมูก จาม  เป็นๆ หายๆ เวลาอากาศเปลี่ยน

        อาการที่เป็นปัญหาในการวินิจฉัยโรคหืดคือ  ผู้ป่วยบางรายอาจมาพบแพทย์ด้วยอาการไอเรื้อรังเพียง อย่างเดียว (cough variant asthma)  ตรวจร่างกาย มักจะปกติ  และผู้ป่วยเองก็ไม่เชื่อว่าตนเองเป็นโรคหืด  แต่ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นเมื่อได้รับยาสเตอรอยด์ชนิดสูด

อะไรบ้างที่ทำให้อาการหอบหืดแย่ลง ?

        ปัจจัยที่มีผลต่ออาการของโรคหอบหืด หรือจะ เรียกง่ายๆ ว่าตัวกระตุ้นหอบหืด  ได้แก่

1.   สารก่อภูมิแพ้  เช่น  ไรฝุ่น  เชื้อรา  เกสรดอกไม้  แมลงสาบ  ขนสัตว์
2.   สารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง  เช่น  ควันบุหรี่  มลภาวะ  สารระเหยที่มีกลิ่นเช่น น้ำหอม และ ตัวทำละลายต่างๆ
3.   อื่นๆ  เช่น

        3.1 การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
        3.2 ความเครียด
        3.3 อากาศเย็น
        3.4 สารซัลไฟต์ในอาหาร เช่น ผลไม้แห้ง หรือไวน์
        3.5 ภาวะกรดย้อนจากกระเพาะ
        3.6 ยาบางชนิด เช่น แอสไพริน ยาหยอดตา ที่มีฤทธิ์ต้านเบต้า

การรักษาโรคหอบหืด

        การรักษาโรคหืดมีจุดประสงค์ให้อาการของ โรคสงบป้องกันไม่ให้เกิดการกำเริบเฉียบพลันเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ  และลดการ ทำลายหลอดลมอย่างถาวร  การรักษาที่สำคัญ ประกอบด้วย

        1.  หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นทั้งหลายดังกล่าวข้างต้น

        2.  การใช้ยา  ยาที่ใช้แบ่งได้เป็น 2  กลุ่มคือ

          2.1.  ยาขยายหลอดลม  ใช้เพื่อขยายหลอดลม ลดอาการหอบเหนื่อย  ได้แก่  ยา Ventolin, Bricanyl, Meptin  ทั้งชนิดยาเม็ดรับประทานและยาพ่น  รวมทั้ง ยาพ่น Berodual และ Combivent เป็นต้น

          2.2. ยาต้านการอักเสบ  ใช้ควบคุมโรคให้เข้า สู่ระยะสงบ ได้แก่  ยาพ่นที่มีส่วนประกอบของ สเตอรอยด์ เช่น  Pulmicort, Flixotide, Symbicort, Seretide  และยารับประทาน  ได้แก่  Singulair, Nuelin SR, Xanthium เป็นต้น

        3. รักษาโรคอื่นๆ ที่พบร่วมด้วยเช่น  โรคภูมิแพ้  และภาวะกรดย้อนจากกระเพาะ

        มักมีความเข้าใจผิดว่า  ยาขยายหลอดลมคือ ยาหลักที่ใช้รักษาโรคหืด  ความจริงแล้วไม่ถูกต้อง  เนื่องจากโรคหืดเป็นโรคที่มีการอักเสบ  ดังนั้นยาหลัก ที่ใช้รักษาก็ต้องเป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ  ซึ่งก็ คือยาสเตอรอยด์ชนิดสูด  ซึ่งเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูง ที่สุดที่ใช้รักษาโรคหืดในปัจจุบัน  สามารถลดการกำเริบเฉียบพลันและลดการทำลายหลอดลมอย่างถาวรได้  ในขณะที่ยาขยายหลอดลมออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ ของหลอดลม  จะลดอาการหอบเหนื่อยในช่วงที่กำลัง กำเริบ  ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนการรับประทานพารา- เซตามอลเพื่อลดไข้  แต่ก็มีความจำเป็นในช่วงที่มี อาการฉุกเฉิน

        ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอีกอย่างที่พบได้บ่อย คือ  เข้าใจว่ายาที่เป็นสเตอรอยด์เป็นยาอันตรายใช้แล้ว จะมีผลข้างเคียงระยะยาว  ความเชื่อนี้ถูกต้องเพียง บางส่วน  การได้รับยาในรูปรับประทานหรือฉีดใน ระยะยาว จะมีผลต่ออวัยวะอื่นๆ ทั่วร่างกายจริง  แต่ก็จำเป็นต้องใช้ในกรณีหอบเหนื่อยรุนแรงเฉียบพลัน เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย และใช้ในช่วงสั้นๆ  ไม่เกิน 7-10 วัน  ส่วนยาสเตอรอยด์ชนิดสูดจะออกฤทธิ์เฉพาะที่ หลอดลมและไม่ดูดซึม จึงปลอดภัย ไม่มีผลข้างเคียง ตามที่เข้าใจ

        เนื่องจากโรคหอบหืดเป็นโรคเรื้อรัง  ถ้าผู้ป่วย มีอาการรุนแรงในระดับหนึ่งจำเป็นต้องใช้ยาสเตอรอยด์ ชนิดสูดอย่างต่อเนื่องจนอาการดีขึ้นแล้วจึงค่อยๆ ลดขนาดยาลง  และเมื่อมีอาการบ่อยขึ้นก็ต้องเพิ่มยาขึ้น ตามความรุนแรง

ตัวบ่งชี้ที่บ่งว่าหอบหืดคุมได้ดีมีดังนี้

-ผู้ป่วยมีอาการในช่วงกลางวันน้อยกว่า 4 ครั้ง ต่อสัปดาห์
-มีอาการในช่วงกลางคืนน้อยกว่า 1 ครั้งต่อ สัปดาห์
-จำเป็นต้องใช้ยาขยายหลอดลมน้อยกว่า 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์
-ไม่มีการขาดงานหรือขาดเรียนเนื่องจากหอบ
-สามารถทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายได้ปกติ

ที่มา : วิชัยยุทธจุลสาร
ฉบับที่ 36 ประจำเดือน มกราคม - เมษายน 2550

โดย  นพ.ดำเกิง  ตันธรรมจาริก
- แพทย์ศาสตร์บัณฑิต(เกียรตินิยมอันดับ1 ) รพ.รามาธิบดี
- วุฒิบัตรอายุรศาสตร์ทั่วไป
- วุฒิบัตรอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจ
- อนุมัติบัตรเวชศาสตร์ครอบครัว

ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
ขอบคุณภาพประกอบจาก google

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม